ไม่ควรพลาด “สงกรานต์พระประแดง 2568” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน ที่ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หนึ่งในประเพณีสงกรานต์ที่เป็นเอกลักษณ์ และเต็มไปด้วยสัน จัดสืบทอดต่อกันมาเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ กับกิจกรรมหลากหลายตลอด 3 วัน
สงกรานต์พระประแดง เป็นสงกรานต์ในแบบของชาวไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ) ที่มีเอกลักษณ์จัดเต็มทั้งวัฒนธรรม ความสนุก และการจัดแสดงแสงสีในยามค่ำคืน ซึ่งจะจัดขึ้นหลังสงกรานต์ในช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สุดท้ายของเดือนเมษายน
ไฮไลต์ “สงกรานต์พระประแดง 2568”
สงกรานต์พระประแดง 2568 ปีนี้ขนขบวนแห่สุดอลังการหลากหลาย ขบวนรถที่สำคัญของขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง ซึ่งลักษณะและรูปแบบของรถสงกรานต์ จะประกอบด้วยตัวสัตว์ประจำปี ตัวพญานาค จามร ที่ประดิษฐานเศียรของท้าวมหาพรหม
- ขบวนแห่รถบุปผาชาติ ที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ที่สวยงามตระการตา โดยมีสาวมอญของแต่ละหมู่บ้านนั่งประจำบนรถ ในขบวนแห่สงกรานต์พระประแดงเป็นประจำทุกปี
- ประเพณีแห่นก-แห่ปลา จัดให้มีขบวนแห่นก-แห่ปลา ร่วมในขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ เพื่อไปทำพิธีปล่อยนก ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นการทำบุญเสริมสิริมงคล
- การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเน้นความสนุกสนานรื่นเริง จึงจัดให้มีการประกวดหนุ่มลอยชายควบคู่กับการประกวดนางสงกรานต์ไปด้วย โดยผู้ได้รับตำแหน่งนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชายจะต้องร่วมขบวนแห่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง และจะต้องร่วมเล่นสะบ้าโชว์ตามบ่อนสะบ้ารามัญในชุมชนต่าง ๆ
- กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน (สะบ้ารามัญ) (มอญ) เรียกว่า (ว่อน-ฮะ-นิ) สะบ้าเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวมอญที่นิยมเล่นทั่วไปตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันการเล่นสะบ้าได้ลดความนิยมลงจนหาดูได้ยาก
- กิจกรรมการกวนกาละแมขนมคู่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ชาวมอญจะทำขนมที่มอญเรียกว่า “กวันฮะกอ” หรือที่คนไทยเรียกว่า “กาละแม”
- กิจกรรมกวนกาละแมขนมคู่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ชาวมอญจะทำขนมที่มอญเรียกว่า “กวันฮะกอ” หรือที่คนไทยเรียกว่า “กาละแม” ขนมที่ต้องใช้เวลาและแรงกวน แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีภายในชุมชน
- กิจกรรมกล่อมบ่อนสะบ้ารามัญ การละเล่นร้องเพลงรำประกอบเพลงพื้นบ้านของชาวมอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชนิด คือ เปิงมาง ปี่ ซออู้ ซอด้วง กลองเล็ก
- สรงน้ำพระพุทธรูป ณ วัดโปรดเกศเชษฐาราม เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นจะมีการ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้สูงอายุและเป็นการส่งความปรารถนาดีในวันขึ้นปีใหม่ไทย
- กิจกรรมย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า (สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5) เพื่อย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์จุดสำคัญที่สุด คือการเปิดอุโมงค์ใต้ป้อมแผลงไฟฟ้า ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่สนใจทั่วไปเข้าชม นักท่องเที่ยวสามารถเดินเล่นและถ่ายภาพบรรยากาศสวย ๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึกกันได้
- กิจกรรมพิธีทำบุญเมืองและบวงสรวงรัชกาลที่ 2
การเดินทางไปพระประแดง
- รถยนต์ส่วนตัว เดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียง 30-40 นาที ผ่านถนนพระราม 3 – สุขสวัสดิ์
- รถโดยสาร ขึ้นรถตู้จากอนุสาวรีย์ชัยฯ หรือสายใต้ ไปสมุทรปราการ จากนั้นต่อรถสองแถวไปพระประแดง
- เรือข้ามฟาก มีเรือบริการจากท่าเรือบางนา หรือท่าเรือพระประแดง
ฉะนั้นอย่าพลาดไปสัมผัสเสน่ห์ของสงกรานต์พระประแดง ปีนี้กัน ณ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ วันที่ 25-27 เม.ย.นี้
ข้อห้าม-ข้อควรปฎิบัติ สงกรานต์พระประแดง 2568
ข้อแนะนำและควรปฎิบัติ สำหรับการร่วมงาน สงกรานต์พระประแดง ในวันที่ 27 เมษายน 2568 ดังนี้
ข้อควรปฏิบัติ
- แต่งกายสุภาพ ควรใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เหมาะสมกับงานประเพณี และพร้อมรับความเปียกชื้น
- เคารพสถานที่และประเพณีท้องถิ่น เช่น การร่วมขบวนแห่, รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ควรทำอย่างสุภาพเรียบร้อย
- เล่นน้ำอย่างสุภาพ ใช้น้ำสะอาด ไม่สาดน้ำแรงเกินไป และหลีกเลี่ยงการใช้แป้ง
- ดูแลทรัพย์สินของตนเอง เก็บของมีค่าไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการสูญหาย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่จัดงานที่มีผู้คนจำนวนมาก
- ช่วยกันรักษาความสะอาด ทิ้งขยะในที่ที่จัดไว้ให้
สิ่งที่ไม่ควรทำและหลีกเลี่ยง
- ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
- ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถ หรือบนรถ
- ห้ามโป๊เปลือยในพื้นที่สาธารณะ
- ห้ามบรรทุกโดยสารท้ายกระบะเกินจำนวนที่กำหนด
- งดเล่นแป้ง เล่นปืนฉีดน้ำแรงดันสูง
- ห้ามพกพาอาวุธทุกชนิด
เรื่องน่ารู้ “สงกรานต์พระประแดง 2568”
อ.พระประแดง เดิมเคยเป็นเมืองหน้าด่านที่มีชื่อว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ ก่อตั้งขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้เป็นปราการป้องกันการรุกรานจากข้าศึกทางทะเล โดยตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของนครเขื่อนขันธ์ หรือพระประแดงในปัจจุบัน คือ ชาวรามัญหรือมอญ ซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทยมานานกว่าร้อยปี
สันนิฐานว่า ชาวรามัญเริ่มอพยพเข้าสู่ประเทศไทยหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ เมื่อ 2127 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 2318 ปรากฏว่ามีชาวมอญอพยพเข้ามาราวหมื่นคนทางด้าน จ.กาญจนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองนนทบุรี ตั้งแต่ปากเกร็ดถึงปุทมธานี ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีพวกมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกเป็นจำนวนมาก
เมื่อพระองค์ได้ทรงสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ แล้ว จึงโปรดให้อพยพครอบครัวมอญจากเมืองปทุมธานี โดยมีพระยาเจ่งเป็นหัวหน้าไปอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ต่อมาโปรดให้สมิงทอบุตรชายพระยาเจ่ง เป็นเจ้าเมืองเขื่อนขันธ์ หรือเมืองพระประแดง
กล่าวได้ว่า ประเพณีและวัฒนธรรมมอญ จึงฝังรากแน่นแฟ้นในเมืองพระประแดงถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นคนไทย แต่ยังรักษาประเพณีเดิมไว้เป็นอย่างดี ทางจังหวัดสมุทรปราการและชาวอำเภอพระประแดง จึงได้ร่วมกันจัดงานสงกรานต์พระประแดงขึ้น เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ของไทย และเพื่ออนุรักษ์ประเพณีของชาวรามัญเอาไว้ เช่น ประเพณีการปล่อยนกปล่อยปลา การเล่นสะบ้า โดยจัดร่วมกับงานสงกรานต์ทุกปี กำหนดงาน
หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประมาณ 1 สัปดาห์ ณ อำเภอพระประแดง
อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ, เทศบาลเมืองพระประแดง
อ่านข่าว : “ไข่ไก่” หน้าฟาร์ม ขึ้นแผงละ 6 บาท มีผลวันนี้ 17 เม.ย.